มีโรคประจำตัวศัลยกรรมได้ไหม?
มีโรคประจำตัวสามารถศัลยกรรมได้หรือไม่?
ในการทำศัลยกรรมหรือการผ่าตัดทุกชนิดล้วนมีความเสี่ยงด้วยกันทั้งนั้น โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัว เพราะอาจมีความเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ง่ายกว่าปกติ แต่ถึงอย่างนั้นใช่ว่าผู้ที่มีโรคประจำตัวจะทำศัลยกรรมไม่ได้แต่อย่างใด คนที่มีโรคประจำตัวก็ “สามารถทำศัลยกรรมได้” เพียงแต่ต้องควรจะคุมให้อยู่ในระดับปกติก่อนเข้ารับการผ่าตัด โดยโรคที่ต้องระวังเป็นพิเศษมีดังนี้
1.เบาหวาน
เนื่องจากผู้ที่เป็นโรคนี้จะมีระดับน้ำตาลในเลือดไม่คงที่ และยังมีผลทำให้แผลจากการผ่าตัดหายยากกว่าปกติ ผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานสามารถเข้ารับการผ่าตัดได้ เพียงต้องควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ปกติ และได้รับการประเมินอาการจากแพทย์ประจำตัว ก็สามารถเข้ารับการผ่าตัดได้ปกติ แต่ถ้าหากผู้ป่วยรักษาระดับน้ำตาลได้ไม่ดี แพทย์จะทำการฉีดอินซูลินก่อนการผ่าตัดเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ไม่ให้เกิดอาการแทรกซ้อนหลังการผ่าตัดและทำให้แผลหายในระยะเวลาปกติ
2.ความดันโลหิตสูง
เนื่องจากความดันโลหิตสูงทำให้เกิดความเสื่อมสภาพของหลอดเลือดแดง นำไปสู่สภาวะการแข็งตัวของหลอดเลือด และเป็นผลให้ร่างกายไม่สมดุล นอกจากนี้ความดันโลหิตสูงยังเป็นปัจจัยเสี่ยงทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ ได้ จึงต้องมีการควบคุมระดับความดันให้ปกติ
3.ไทรอยด์
โรคไทรอยด์นั้นมีหลายชนิด ซึ่งจะมีผลต่อการผลิตฮอร์โมน อาจจะมากหรือน้อยเกินไป ซึ่งส่งผลต่อความแข็งแรงของอวัยวะต่าง ๆ แต่โรคนี้สามารถศัลยกรรมได้ เพียงแค่ต้องดูแลร่างกายและให้ภาวะโรคคงที่ ทานยาให้ครบ นอกจากนี้ก่อนผ่าตัดควรให้คุณหมอประเมินโรคอีกครั้ง
4.โรคเลือดต่าง ๆ
ในการผ่าตัดนั้นต้องมีการสูญเสียเลือด เพราะฉะนั้นผู้ที่เป็นโรคที่เกี่ยวกับการแข็งตัวของเลือด เช่นเลือดออกง่ายหยุดยาก รวมไปถึงผู้ที่ทานยาละลายลิ่มเลือดเช่นกัน ควรแจ้งให้ศัลยแพทย์ทราบและปฏิบัติตามคำแนะนำ ตรวจเช็กค่าความสมบูรณ์ของเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ เพื่อป้องกันภาวะที่จะเกิดขึ้นของเลือดในขณะเข้ารับผ่าตัดหรือช่วงฟื้นฟู
5.โรคปอด
เนื่องจากโรคปอดจะเป็นโรคที่อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ง่าย เพราะต้องพึ่งพาปอดในการแลกเปลี่ยนออกซิเจน อีกทั้งการผ่าตัดใหญ่ที่มักจะต้องใช้การวางสลบในการผ่าตัด ดังนั้นจะต้องให้ร่างกายแข็งแรง มีภูมิต้านทาน เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้
สรุปโดยรวมได้ว่า โรคบางโรคที่มีความเสี่ยงอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้นั้น หากมีการดูแลและควบคุมคุมให้อยู่ในระดับที่สมดุล และทำตามคำแนะนำแพทย์ประจำตัวอย่างใกล้ชิด อีกทั้งไม่ควรปิดบังข้อมูลศัลยแพทย์เพื่อให้ศัลยแพทย์ ได้ทำการประเมินถึงความเหมาะสมและพิจารณาการผ่าตัดอย่างละเอียด